วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติหนังสือพิมพ์

ข่าวภาพ
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2492 นายกำพล วัชรพล นายเลิศ อัศเวศน์ และนายวสันต์ ชูสกุล ร่วมกันจดทะเบียนขอออกหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ รายสัปดาห์ ได้ทำการพิมพ์วางตลาดตอนเช้าวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493 จากนั้น ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2494 ผู้ก่อตั้งทั้งสาม ปรับเวลาออกหนังสือพิมพ์ข่าวภาพให้เร็วขึ้น จากรายสัปดาห์ เป็นรายสามวัน ต่อมา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2495 หนังสือพิมพ์ข่าวภาพรายวัน ฉบับปฐมฤกษ์ ออกจำหน่ายแทนที่ ข่าวภาพรายสามวัน มีจำนวนพิมพ์ 3,000 ฉบับ จากนั้น นายกำพล นายเลิศ และนายวสันต์ ได้ขยายกิจการสื่อเพิ่มเติม โดยเปิดนิตยสารข่าวภาพรายเดือน เมื่อปี พ.ศ. 2496 แต่แล้ว ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 3 สั่งปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งข่าวภาพด้วย รวมถึงหลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงพิมพ์ซ้ำเข้ามาอีก

เสียงอ่างทอง
จากวันนั้น นายกำพลก็ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ในการออกหนังสือพิมพ์ใหม่อีกครั้งอยู่โดยตลอด จนกระทั่งสามารถซื้อ หัวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจากจังหวัดอ่างทอง มาออกพิมพ์จำหน่ายในส่วนกลาง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 นายกำพลจึงได้ออกหนังสือพิมพ์ เสียงอ่างทอง รายวัน ด้วยยอดพิมพ์ในครั้งแรก จำนวน 7,000 ฉบับ และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง เพิ่มขึ้นสูงถึง 45,000 ฉบับ นายกำพลจึงสั่งให้ใช้ระบบตีด่วน ที่จัดตั้งฝ่ายจัดจำหน่ายในส่วนภูมิภาคด้วยตนเอง

ไทยรัฐ
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2505 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ออกวางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์ โดยกองบรรณาธิการชุดเดิมของเสียงอ่างทอง ที่เจ้าของหัวหนังสือพิมพ์คนเดิม มาเรียกคืนกลับไป โดยใช้คำขวัญในยุคแรกว่า หนังสือพิมพ์เช้า ภาพข่าวสดประจำบ้าน มี จำนวนพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ฉบับ แต่ละฉบับมีจำนวน 16 หน้า ราคาฉบับละ 1.00 บาท ต่อมา ในราวปลายปี พ.ศ. 2508 ไทยรัฐเริ่มจัดพิมพ์ฉบับพิเศษในวันอาทิตย์ ให้ชื่อว่า ไทยรัฐสารพัดสี จำนวน 20 หน้า ราคาเท่าเดิม ส่งผลให้ยอดพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็น 140,000 ฉบับ ต่อมา ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 เพิ่มจำนวนเป็น 20 หน้าต่อฉบับในทุกวัน ส่งผลให้ยอดพิมพ์เพิ่มขึ้นอีกเป็น 200,000 ฉบับ จากนั้น ในปี พ.ศ. 2515 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในกองบรรณาธิการไทยรัฐ ต่อมา วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ไทยรัฐประกาศปรับขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 50 สตางค์ (เป็น 1.50 บาท) ในช่วงเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ยอดพิมพ์ไทยรัฐปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะวันที่ 16 เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,181,470 ฉบับ เกิดเหตุลอบยิงสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ด้วยระเบิด เอ็ม-79 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไทยรัฐได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2520 ด้วยการเช่าเครื่องบินเหมาลำ จากจังหวัดเชียงใหม่ กลับสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นห้องล้างฟิล์มชั่วคราวกลางอากาศ ที่บันทึกภาพข่าว การชกมวยป้องกันตำแหน่งของแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ที่ชนะน็อกมอนโร บรูกส์ ในยกที่ 15 โดยเมื่อถึงกรุงเทพฯ จึงนำภาพลงหนังสือพิมพ์ได้เพียงฉบับเดียว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ไทยรัฐเริ่มใช้เครื่อง Hell ในระบบรับ-ส่งภาพขาวดำระยะไกล (Telephoto Receiver & Facsimile Transmitter) ทั้งนี้ ไทยรัฐยังเพิ่มยอดพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2522 เป็นจำนวน 1,000,742 ฉบับ นอกจากนี้ ไทยรัฐประกาศปรับขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 50 สตางค์ (เป็น 2.00 บาท) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522 และปรับขึ้นอีก 1 บาท (เป็น 3.00 บาท) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2523 จากนั้น ไทยรัฐได้สร้างปรากฏการณ์อีกครั้ง ในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พาดหัวข่าวตัวใหญ่ถึงครึ่งหน้ากระดาษ โดยดำริของนายกำพล ซึ่งเป็นที่ลือลั่นว่า สั่งปลด...อาทิตย์ส่งผลให้ยอดจำหน่ายขึ้นสูงไปถึงเลข 7 หลัก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปกติถึงร้อยละ 30 และไทยรัฐเริ่มพิมพ์ปกเป็นสี่สีฉบับแรก เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2531 โดยตีพิมพ์ภาพข่าว นางสาวภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก รับตำแหน่งนางงามจักรวาลที่ไต้หวัน 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ไทยรัฐประกาศปรับขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 2 บาท (เป็น 5.00 บาท) และวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ไทยรัฐเริ่มใช้เครื่อง Hell ในระบบรับส่งภาพสีระยะไกล ไทยรัฐสร้างปรากฏการณ์พิเศษ ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ ฉบับประจำวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เป็นพิเศษ จำนวน 108 หน้า เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 40 ปี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และครบรอบวันเกิด 70 ปี ของนายกำพล ในฐานะผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ไทยรัฐมียอดพิมพ์อยู่ในระดับ 1,000,000 ฉบับเศษ โดยเฉพาะวันที่ 19 พฤษภาคม เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,428,624 ฉบับ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2537 ไทยรัฐนำเครื่องรับส่งภาพระยะไกล ลีแฟกซ์ (Leafax) จากบริษัท เอพี จำกัด เข้ามาใช้ต่อพ่วง และแสดงภาพบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปใช้งานได้ทันที รวมทั้งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ศูนย์ข่าวภูมิภาคใน 17 จังหวัด ก็ได้นำระบบรับส่งภาพดังกล่าวไปใช้ ในการส่งภาพกลับเข้ามายังสำนักงานส่วนกลางที่กรุงเทพฯ อีกด้วย ต่อมาเพิ่มอีก 9 จังหวัด ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และเพิ่มอีก 4 จังหวัด ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 30 จังหวัด ในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2539 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเพิ่มเป็น 40 หน้าทุกวัน ตามที่ได้เตรียมการมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมประกาศปรับราคาจำหน่ายอีก 3 บาท (เป็น 8.00 บาท) จากนั้นจึงประกาศปรับราคาอีก 2 บาท (เป็น 10.00 บาท) เมื่อปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบันมี บริษัท วัชรพล จำกัด เป็นเจ้าของ, นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล เป็นผู้อำนวยการ และนายสราวุธ วัชรพล เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ซึ่งทั้งสองเป็นทายาทของนายกำพล มีจำนวนพิมพ์ปัจจุบัน 1,000,000 ฉบับ ราคาจำหน่าย 10.00 บาท ในหนึ่งฉบับมีประมาณ 28-40 หน้า